ข่าวประชาสัมพันธ์

พบปลาน้ำกก-น้ำโขง เป็นตุ่ม หวั่นสารพิษทำลายระบบนิเวศปลา จ.เชียงราย หลังพบแพร่กระจายไปแม่น้ำโขงด้วย

รัฐบาลไทยต้องเร่งเจรจา 4 ฝ่าย แก้ไขปัญหาเหมืองปล่อยสารพิษลงแม่น้ำกก

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต จ.เชียงราย เก็บตัวอย่างปลาเป็นตุ่ม มีลักษณะคล้ายติดเชื้อ ตรวจหาโรค-โลหะหนัก หวั่นพบสารพิษแม่น้ำกกทำลายระบบนิเวศพันธุ์ปลา หลังพบแพร่กระจายไปแม่น้ำโขงด้วย

จากการเปิดเผยผลตรวจแม่น้ำกก แม่น้ำสาย แม่น้ำรวก ของหลายหน่วยงานในจังหวัดเชียงราย พบการปนเปื้อนสารหนูเกินค่ามาตรฐาน สาเหตุหลักมาจากการทำเหมืองในพื้นที่ต้นแม่น้ำสาย แม่น้ำรวกและแม่น้ำกก ในเขตรัฐฉาน ประเทศเมียนร์มา จนส่งผลกระทบต่อชุมชนริมแม่น้ำกก และแม่น้ำสายอย่างกว้างขวาง แม้หลายหน่วยงานจะเข้ามาตรวจสอบปัญหา แต่ยังไร้วี่แววรัฐบาลแก้ไขปัญหาหลัก ที่มาจากเหมืองในพื้นที่ต้นน้ำ เป็นผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกินความสามารถของคนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงรายที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเองได้

ภาคประชาชาชนในลุ่มแม่น้ำกกประเทศไทย ได้สะท้อนผลกระทบหลังแม่น้ำปนเปื้อนสารพิษ ที่กระทบต่อน้ำอุปโภค บริโภค วิถีชีวิตประมง เกษตร จากมลพิษข้ามพรมแดน เสนอรัฐบาลเร่งตั้งคณะทำงานแก้ปัญหา รวมถึงการเจรจาระหว่างประเทศ ผ่านข้อเสนอการแก้ไขปัญหาแม่น้ำกก 7 ข้อ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ที่ผ่านมาคือ

1.แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชน และนักวิชาการ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาทั้งในแหล่งกำเนิดมลพิษ ระหว่างทาง และผู้รับผลพิษ จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำกก จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย ภายใน 30 วัน

2. เปิดเผยและซักซ้อมมาตรการรับมืออุทกภัยลุ่มน้ำกก และลุ่มน้ำสาย อย่างเป็นระบบ มีส่วนร่วม และมีประสิทธิภาพ

3.สร้างความร่วมมือกับประเทศเมียนมา และกลุ่มกองกำลังว้า เพื่อเพิ่มจุดเก็บตัวอย่างน้ำ เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของสารปนเปื้อน ตลอดลำน้ำกก น้ำสาย ทั้งพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่ทำเหมืองในรัฐฉาน ประเทศพม่า และพื้นที่แม่น้ำกกในประเทศไทย

4.การสร้างระบบสื่อสารสาธารณะที่โปร่ง เพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำจังหวัดเชียงราย

5.การขยายขอบเขตการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นการลุกล้ำหรือทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดลุ่มน้ำ

6.เปิดการเจรจา 4 ฝ่ายคือ ไทย เมียนมา กองกำลังชาติพันธุ์ที่ควบคุมพื้นที่สัมปทานเหมือง และประเทศจีน เพื่อร่วมกันหาทางออกอย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบ โดยมีกลไกระดับอาเซียนบวกประเทศจีน

7.การแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะทำงานในทุกระดับให้มีสัดส่วนของประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบภาคประชาสังคม

แต่ปัจจุบันยังไม่มีการเจรจาระหว่างประเทศเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการทำเหมืองต้นน้ำอย่างเป็นรูปธรรมเลย

แม่น้ำกกมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสูงในเขตรัฐฉานภาคตะวันออกของประเทศพม่า มีความยาวประมาณ 285 กิโลเมตร เข้าสู่ประเทศไทยที่บ้านท่าตอน ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ไหลผ่านร่องเขาเข้าสู่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ผ่านอำเภอเวียงชัย อำเภอดอยหลวง อำเภอแม่จันและอำเภอเชียงแสน ไหลบรรจบแม่น้ำโขงที่บ้านสบกก ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย รวมความยาวในประเทศไทยประมาณ 145 กิโลเมตร

จากการศึกษาสำรวจสัตว์น้ำในแม่น้ำกกของทางสมาคแม่น้ำเพื่อชีวิต พันธุ์ปลาที่พบในแม่น้ำกกส่วนใหญ่เป็นชนิดที่พบในแม่น้ำโขง มีการอพยพขึ้นลงระหว่างสองแม่น้ำ มีระบบนิเวศน์ย่อยที่ใกล้เคียงกับแม่น้ำโขง ที่ประกอบด้วย เกาะดอน แก่งหิน หาดทราย หาดหิน ร้อง ห้วย ริมฝั่ง หนอง บวกและออบเป็นต้น มีลำห้วยสาขาจำนวน 24 ลำห้วย จากตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ถึงอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

แม่น้ำกกในประเทศไทยความยาวประมาณ 145 กิโลเมตร แบ่งตามลักษณะทางกายภาพออกเป็น 3 ตอน ได้แก่ ลุ่มน้ำกกตอนบนประเทศไทย ครอบลุมพื้นที่ในเขตอำเภอแม่อาย จากตำบลท่าตอน ถึงพื้นที่บ้านห้วยทรายขาว ตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองจังหวัดเชียงราย ความยาวประมาณ 62 กิโลเมตร ลุ่มน้ำกกตอนกลางในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่บ้านห้วยทรายขาว ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง ถึงฝายเชียงรายบ้านป่ายางมน ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย รวมความยาวประมาณ 21กิโลเมตร และลุ่มน้ำกกตอนปลายในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่หลังฝายเชียงราย บ้านป่ายางมน ตำรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ไปจนถึงปากแม่น้ำกก ที่บ้านสบกก ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย รวมความยาวประมาณ 62 กิโลเมตร

ในพื้นที่ลุ่มน้ำกกในประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น อย่างน้อย 9 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ คนเมือง อีสาน ปกาเกอะญอ อาข่า เมี่ยน ลาหู่ ไทใหญ่ ไทลื้อ ลีซูและจีนยูนนาน

ในแม่น้ำกกเคยมีการจับปลาบึกขนาดใหญ่ได้บริเวณแก่งหางเต้น ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงรายราย เมื่อในปีพ.ศ.2519 จากการศึกษาพันธุ์ปลาในแม่น้ำกก พบพันธุ์ปลา 71 ชนิด แบ่งออกเป็นปลาท้องถิ่น 64 ชนิด ปลาต่างถิ่น 7 ชนิด ปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปลากดคัง กดขาว กดเหลือง ปลาแข้ ปลาเค้าขาว ปลาคางเบือน ปลาดังแดง ปลากาดำ ปลาสวาด ปลายอน ปลาหวาน ปลาดุกอุย ปลาสร้อย ปลาตะเพียนขาว ปลากระทิง ปลาไหลเป็นต้น ส่วนปลาที่มีความสำคัญอยู่ในการจัดอันดับของ IUCN redlist อย่างน้อย 2 ชนิดได้แก่ ปลากระเบนลาวและปลายี่สกไทย ที่ชาวประมงจับได้บริเวณช่วงปากแม่น้ำกกเข้ามาตอนบน ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ที่ผ่านมาสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้ทำการศึกษาตั้งกล้องและเก็บมูลนากแม่น้ำกก พบเป็นชนิดนากใหญ่ธรรมดา กระจายตัวอยู่ชุกชุมริมฝั่งแม่น้ำกก ตั้งแต่ชุมชนบ้านฟาร์มสัมพันธกิจ ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ไปจนถึงปากแม่น้ำกกบ้านสบกก ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย นับได้ว่าลุ่มน้ำกกประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ด้านหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างสูงจากการพบเจอสัตว์น้ำที่หลากหลายชนิด

ข้อกังวลของเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำกก อิง โขง ได้พยามเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นรวมถึงปัญหาในระยะยาว เนื่องจากแม่น้ำกกเป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงชุมชนสองฝั่งแม่น้ำมาตั้งแต่อดีต จากแม่น้ำเพื่อชีวิตกำลังเป็นแม่น้ำแห่งความตาย

ด้านนายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมกับเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำกก อิง โขง ได้รวมข้อเสนอแผนการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสารเคมีในแม่น้ำกก

“ด้วยความห่วงใยในสถานการณ์ตอนนี้ ทางเครือข่ายร่วมกันตรวจสอบการปนเปื้อนในตัวของปลา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของคนในลุ่มน้ำ ทางสมาคมได้ประสานกับชาวประมงเพื่อนำปลาตัวอย่างที่มีลักษณะผิดปกติตรวจหาสารปนเปื้อน เพื่อให้รับรู้และรับมือกับสารปนเปื้อนที่มากับน้ำ และในการป้องกันการบริโภคปลาที่มีสารปนเปื้อน แต่การแก้ไขปัญหาหลักคือการแก้ไขปัญหาผลกระทบการทำเหมืองในเขตรัฐฉาน ซึ่งมันเกินกำลังของรัฐท้องถิ่นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเร่งเจรจา 4 ฝ่ายคือ ไทย เมียนม่า กลุ่มกองลังชาติพันธุ์และจีนเพื่อตรวจสอบ หามาตรการควบคุมมลพิษตามกฎหมายหรืออนุสัญญาสิ่งแวดล้อมระดับสากลหรือถ้าไม่สามารถควบคุมได้ข้อเสนอสูงสุดคือต้องยุติการทำเหมือง”

โพสต์โดย สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต เมื่อ วันอังคารที่ 6 พฤษภาคม 2025

หลังจากนี้ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมกับเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำกก อิง โขง ในการทำแผนป้องกันและรับมือผลกระทบ 3 ระยะ คือ

  • ระยะที่หนึ่ง ระยะเร่งด่วน ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบสารเคมีปนเปื้อนในน้ำ ปลา และสัตว์น้ำ ในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย แม่น้ำรวกและแม่น้ำมะ
  • ระยะที่สอง ตรวจสอบสารเคมีปนเปื้อนในน้ำ ปลา และสัตว์น้ำในลำน้ำโขงจังหวัดเชียงราย และลำห้วยสาขาแม่น้ำกก จากอำเภอท่าตอน จังหวัดเชียงใหม่จนถึงปากแม่น้ำกกจำนวน 28 ลำห้วย
  • ระยะที่สาม ตรวจสอบสารเคมีปนเปื้อนในน้ำ ปลา และสัตว์น้ำในแม่น้ำคำ แม่น้ำอิง และแม่น้ำงาว ระยะทาง 10 กิโลเมตรจากปากแม่น้ำ

เพื่อหาข้อเท็จจริงในการสื่อสารให้กับชุมชนได้ตั้งรับปรับตัวจากข้อกังวลผลกระทบที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น ซึ่งในขณะนี้ได้ส่งตัวอย่างปลา จำนวน 4 ตัวอย่าง ให้ประมงจังหวัดเชียงรายตรวจสอบ คาดว่าจะทราบผลในอีก 3 สัปดาห์

หมายเหตุภาพปลา

  • ตัวที่ 1และ 2 จับได้ในวันที่ 28 เมษายน 2568 ณ ปากแม่น้ำคำ บ้านสบคำ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสนจังหวัดเชียงราย
  • ตัวที่ 3 และ 4 จับได้ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2568 ใต้ฝายป่ายางมน ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
  • ตัวที่ 5 จับได้ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2568 ใต้ฝายป่ายางมน ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

6 พฤษภาคม 2568